อภัยคือหัวใจของพระเจ้า

คำเทศนาเรื่อง อภัยคือหัวใจของพระเจ้า

 มธ.18:15-20 (15)"หากว่าพี่น้องของท่านผู้หนึ่งทำผิดบาปต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดบาปนั้นแก่เขา สองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่าน ท่านจะได้พี่น้องคืนมา16แต่ถ้าเขาไม่ฟังท่านจงนำคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย ให้เป็นพยานสองสามปากเพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้17ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสตจักร ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีก ก็ให้ถือเสียว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างชาติหรือคนเก็บภาษี18เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า สิ่งสารพัดซึ่งท่านจะกล่าวห้ามในโลก ก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งซึ่งท่านจะกล่าวอนุญาตในโลก ก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์เหมือนกัน19เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายอีกว่า ถ้าในพวกท่านที่อยู่ในโลกสองคนจะร่วมใจกันขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ก็จะทรงกระทำให้20ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนๆในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น" และผมจะให้ชื่อเรื่องของคำเทศนาในเช้าวันนี้ว่า “อภัยคือหัวใจของพระเจ้า”

“คนดี” วัดกันที่ไหนครับ ? ความกตัญญู

“คนมีธรรมะ” วัดกันที่ไหนครับ ? การให้อภัย

“คนดี” วัดกันที่ “ความกตัญญู” ฉันใด “คนมีธรรมะ” วัดกันที่ “การให้อภัย” ฉันนั้น

ดังนั้นถ้าเราจะพิจารณาว่าใครเป็นคนมีธรรมะหรือไม่ ดูได้จากอะไรครับ ? ดูได้จากการให้อภัย

 จากพระคำของพระเจ้าที่เราได้อ่านร่วมกันเราพบอะไร ?

  ประการที่ 1 การยกโทษหรือการให้อภัย

ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากไหมครับ ? แท้จริงแล้วคำสอนในพุทธศาสนามีการพูดถึงพรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุธิตาและอุเบกขา ซึ่งเป็นคำสอนที่ดีไหมครับ ?

คำสอนของทุกศาสนาเป็นคนสอนที่ดี แต่ที่มนุษย์ทำไม่ได้ ยังมีจิตใจอาฆาต เคียดแค้น พยาบาท มันเพราะอะไรครับ ?

 ฮบ.4:12 เพราะว่า พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย

 คำสอนในศาสนาอื่นๆไม่สามารถที่จะทำให้มนุษย์บรรลุความสำเร็จของคำสอนนั้นๆได้ เพราะปราศจากพลังของพระเจ้า ปราศจากพลังขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์

 คนที่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอยู่ในชีวิต จะส่งผลให้จิตใจของคนๆนั้นใสและบริสุทธิ์ตามไปด้วย อาเมน

 คนที่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอยู่ในชีวิตเขาไม่เพียงแต่จะไม่ทำบาปหยาบๆ (บาปหยาบๆได้แก่ บาปที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ กินเหล้า โกหก หรือฆ่าคน เป็นต้น)

 คนที่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอยู่ในชีวิตเขาไม่เพียงแต่จะไม่ทำบาปหยาบๆเท่านั้น บาปที่ละเอียดๆ (บาปที่ละเอียดได้แก่บาปที่มองไม่เห็น บาปที่เกิดจากความคิดและภายในจิตใจของเขา เช่น การอาฆาต มาดร้าย การไม่ให้อภัย เป็นต้น) เขาก็จะไม่ทำด้วยเช่นกัน

 ดังนั้นคนที่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอยู่ในชีวิตจริงๆ เขาไม่เพียงแต่จะไม่ทำบาปหยาบๆเท่านั้น บาปที่ละเอียดๆเขาก็จะไม่ทำด้วยเช่นเดียวกัน อาเมน

 พระคำของพระเจ้าใน มธ.18:15-20 ทำให้เราทราบว่า พระเจ้าทรงสนพระทัยในเรื่องของ “การให้อภัย” ใครก็ตามที่บอกว่าตนเองเป็นผู้เชื่อในพระเจ้าหรือเป็นลูกของพระเจ้าและหรือบอกกับใครต่อใครว่าเขาเป็นคริสเตียนเขาจะต้องแสดงออกในเรื่องนี้ด้วย

 1 คร.13:4 “ความรักนั้นก็อดทนนานและกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว”

 คำว่า “รัก” ใครจะพูดก็พูดได้ แต่พระคำของพระเจ้าใน 1 คร.13:4 บอกกับเราว่าอย่างไรครับ ? รักนั้นจะต้องมีการแสดงออกและจะต้องมีการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมและส่วนหนึ่งของการแสดงออกในความรักนั้นนั่นก็คือ “การให้อภัย”

 คำถามคือว่า“การให้อภัย”ที่ว่านี้นานมากน้อยแค่ไหนครับ ? 1.นานตลอดชีวิต 2.ไม่จดจำความผิด

 บางคนถามว่าต้องทำถึงขนาดนั้นด้วยหรือ ? คำตอบคือ ต้องถึงขนาดนั้นด้วย

 ก่อนที่พี่น้องมาจะเชื่อพระเจ้า พี่น้องทำผิดมามากน้อยแค่ไหนครับ ? ภายหลังที่พี่น้องมาเชื่อพระเจ้าแล้วพี่น้องทำผิดมากน้อยแค่ไหนครับ ?

 แต่ทุกๆครั้งที่พี่น้องได้เข้ามาสารภาพความผิดบาปนั้นต่อพระเจ้าทรงพร้อมที่จะให้อภัยกับเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกทั้งไม่จดจำความผิดต่างๆนาๆที่เราได้ทำไว้อีกด้วย

 กท.6:7 “อย่าหลงเลย ท่านจะหลอกลวงพระเจ้าไม่ได้ เพราะว่าผู้ใดหว่านอะไรลง ก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น”

 ทุกครั้งที่ใครก็ตามที่ได้กระทำความผิด เขาจะได้รับผลจากความผิดนั้นอยู่แล้ว อาจจะกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็ได้ว่า “ไม่มีความผิดใดที่ไม่ทิ้งบาดแผลเอาไว้ในชีวิต”

 แค่คนที่ทำผิด “กินผล”จากการกระทำของตนก็หนักอยู่แล้วบวกกับคนข้างนอกก็พร้อมที่จะคอยเหยียบย้ำซ้ำเติมต่อคนที่ทำผิดนั้นอยู่แล้ว

 คำถามคือว่า แล้วพระเจ้าจะทรงกระอย่างนั้นกับเราไหม ?

 สดด.103:9-12 (9)พระองค์จะไม่ทรงปรักปรำเสมอ หรือทรงกริ้วอยู่เป็นนิตย์10พระองค์มิได้ทรงกระทำต่อเราตามเรื่องบาปของเรา หรือทรงสนองตามบาปผิดของเรา11เพราะว่าฟ้าสวรรค์สูงเหนือแผ่นดินเท่าใด ความรักมั่นคงของพระองค์ที่มีต่อบรรดาคนที่เกรงกลัวพระองค์ก็ใหญ่ยิ่งเท่านั้น12ตะวันออกไกลจากตะวันตกเท่าใด พระองค์ทรงปลดการละเมิดของเราจากเราไปไกลเท่านั้น

 พระคำของพระเจ้าบอกกับเราอย่างชัดเจนว่าพระองค์จะทรงกระทำสิ่งเดียว คือ ให้อภัยกับเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกทั้งไม่จดจำความผิดต่างๆนาๆที่เราได้ทำไว้อีกด้วย ดังนั้นเราซึ่งเป็นลูกของพระเจ้า เราต้องเลียนแบบพระเจ้า พระเจ้าให้อภัยเราเสมอ เราก็ต้องอภัยผู้อื่นเสมอด้วยเช่นเดียวกัน

 มธ.6:12“และขอทรงโปรด ยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น”

 มธ.5:23-24(23)“เหตุฉะนั้น ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน 24จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา กลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน”

 พระคำของพระเจ้าทั้ง 2 ข้อที่เราได้อ่านร่วมกัน บอกกับเราอย่างชัดเจนเลยว่า “การอภัยเป็นหลักการนมัสการพระเจ้า” ดังนั้นก่อนที่เราจะเข้าเฝ้าพระเจ้าเราจะต้องยกโทษและต้องให้อภัยผู้อื่นก่อนเสมอ

 การยกโทษ ทำให้โทษนั้นไม่อยู่กับเรา

 การไม่ยกโทษ ทำให้โทษนั้นอยู่กับเรา และการที่โทษนั้นอยู่กับเรา 1.พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราไม่ได้ 2.พระเจ้าอวยพระพรเราไม่ได้

 ดังนั้นถ้าพี่น้องอยากจะชนะใจพระเจ้าพี่น้องจะต้องทำอย่างไรครับ ? ให้อภัยผู้คน

 จากพระคำของพระเจ้าใน มธ.18:15-20 ที่เราอ่านด้วยกันเราพบอะไร ?

  ประการที่ 2 ขั้นตอนในการอภัยและการลงวินัย

15 “หากว่าพี่น้องของท่านผู้หนึ่งทำผิดบาปต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดบาปนั้นแก่เขา สองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่าน ท่านจะได้พี่น้องคืนมา16แต่ถ้าเขาไม่ฟังท่านจงนำคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย ให้เป็นพยานสองสามปากเพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้17ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสตจักร ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีก ก็ให้ถือเสียว่าเขาเป็นเหมือนคนต่างชาติหรือคนเก็บภาษี

 พระคำของพระเจ้าสอนเราว่า ถ้าผู้หนึ่งทำผิดบาปต่อท่าน เช่น ทำผิดต่อเราในเรื่องใดก็ตาม พระคัมภีร์แนะนำให้เราทำตามขั้นตอนต่างๆอย่างไรบ้าง

 ก.แจ้งความผิดสองต่อสองเท่านั้น

 ข.ถ้าเขาไม่ฟังจึงพาคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย

 ค.ถ้าเขายังไม่ฟังให้ไปแจ้งต่อคริสตจักร

ทั้ ง 3 ขั้นตอนที่ได้กล่าวมาผมเชื่อว่าพี่น้องเข้าใจกันพอสมควร แต่ประเด็นที่ผมอยากเน้นกับพี่น้องเป็นพิเศษก็คือในทุกๆขั้นตอนนั้น ต้องพูดด้วยใจรักและด้วยความจริง ถ้าเราพูดด้วยใจรักและด้วยความจริงอีกฝ่ายหนึ่งจะรับได้ แต่ถ้าเราพูดด้วยใจรักและด้วยความจริงและถ้าเขารับไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาไป

 อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากเน้นกับพี่น้องนั่นก็คือว่า คริสตจักรเป็นตัวแทนของพระเจ้า คริสตจักรมีหน้าที่ในเรื่องนี้ด้วยเมื่อมีพี่น้องมาแจ้งความกับศิษยาภิบาล ผู้นำในคริสตจักรฯ ท่านทั้งหลายต้องทำหน้าที่นี้ด้วย “เมื่อผู้กระทำความผิดได้สำนึกผิดเราต้องให้อภัย” แต่เขาต้องรับผลจากการกระทำนั่นก็คือต้องอยู่ภายใต้การถูกลงวินัยของคริสตจักร

 คริสตจักรใดก็ตามเมื่อพี่น้องที่ได้กระทำความผิดความบาปและผู้นำคริสตจักรฯไม่กล้าลงวินัย คริสตจักรก็ไม่ต่างอะไรจากพ่อแม่ที่ตามใจลูก การที่ผู้นำตามใจพี่น้องสมาชิกทั้งๆที่รู้ว่าเขาทำผิดทำบาป มันก็ไม่ต่างอะไรจากกับคำว่า “พ่อแม่รังแกฉัน”

 ประการที่สำคัญคือ การทรงสถิตยของพระเจ้าจะอยู่ด้วยหรือไม่กับคริสตจักรที่ประนีประนอมกับความบาป ? เมื่อพระเจ้าไม่ได้ทรงโปรดที่จะสถิตยและอยู่ด้วยกับคริสตจักร คริสตจักรนั้นก็จะขาดพระพรของพระเจ้า

 สิ่งหนึ่งที่พี่น้องจะต้องเข้าใจให้ตรงกันนั่นก็คือว่า พระพรของพระเจ้าเริ่มต้นที่ตรงไหนครับ ? ใช่จากมีคนจำนวนเยอะแยะมากมายไหมครับ ? ผู้เชื่อหลายคนเข้าใจว่ามีคนเยอะแยะมากมายในโบสถ์นั่นเป็นการอวยพรของพระเจ้า

 เมื่อโมเสสนำคนยิวออกจากการตกเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์นับเฉพาะผู้ชายได้ถึง 600,000- คน ซึ่งโดยแท้จริงพระพรของพระเจ้าน่าจะมากมาย ณ.ที่นั่น จริงไหม

 แต่ทำไมพระพรของพระเจ้าจึงไม่มากมาย ณ.ที่นั่น เพราะ? เพราะพวกเขาเอาแต่บ่น เอาแต่ตัดพ้อต่อว่าพระเจ้าผ่านทางผู้นำ เพราะเขาทำตามใจตัวเองและอื่นๆอีกมากมาย

 พระคัมภีร์บันทึกเอาไว้ว่ามีโยชัวกับคาเลบและคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ได้เข้าแผ่นดินแห่งพันธสัญญานอกนั้นเสียชีวิตทั้งสิ้นรวมถึงโมเสสด้วย

  กลับมาที่คำถาม แล้วพระพรของพระเจ้าเริ่มต้นที่ตรงไหนครับ

 ในพระคัมภีร์เดิมคือ จากคนเพียงคนเดียว Ex.อับราฮัม Noah , ในพระคัมภีร์ใหม่จากคนเพียง 2-3 คนในคริสตจักรฯที่มีความเชื่อฟัง ยำเกรงและไม่ประนีประนอมต่อความบาป

 ดังนั้นหลักการของพระเจ้าคือ “ใส่ใจ ดูแล แต่ไม่ตามใจ คริสตจักรไหนจะมีพี่น้องสมาชิกในคริสตจักรจำนวนเท่าไหร่ก็ตามแต่ แต่พี่น้องที่มีอยู่ต้องทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น”

 กลับมาที่พระวจนะของพระเจ้า พระคำของพระเจ้าใน มธ.18:17 แต่ถ้าศิษยาภิบาลหรือผู้นำในคริสตจักรเตือนแล้วแต่เขาไม่กลับใจใหม่ ไม่ยอมฟังอีกทั้งไม่ยอมอยู่ภายใต้การลงวินัยของคริสตจักรด้วย

 พระคัมภีร์บอกกับเราในเรื่องนี้เอาไว้ว่าอย่างไรครับ ? ให้เราพิจารณาว่าเขาทำตัวเหมือนคนเก็บภาษีหรือเหมือนกับคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าและหรือเหมือนกับคนที่ไม่ได้กลับใจใหม่

 มธ.18:18 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า สิ่งสารพัดซึ่งท่านจะกล่าวห้ามในโลก ก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งซึ่งท่านจะกล่าวอนุญาตในโลก ก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์เหมือนกัน

 พระคำของพระเจ้าบอกกับเราว่า คริสตจักรไม่ใช่รับอำนาจจากพระเจ้าในการให้การอวยพรแก่สมาชิกเท่านั้น แต่คริสตจักรยังรับอำนาจจากพระเจ้าในการตัดพร(ไม่ใช่ให้การสาปแช่ง)

 กับสมาชิกบางคนที่ยังทำความผิด ความบาปอีกทั้งยังมีท่าทีในการที่ไม่ได้กลับใจใหม่กับพระเจ้าด้วยโดยให้เขานั้นไปรับบทเรียนอันทรงคุณค่ากับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว

 แต่เมื่อเขาสำนึกได้เหมือนบุตรน้อยหลงหายและเมื่อเขาอยากกลับมาคืนดีกับพระเจ้าและอยากกลับมามีสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพี่น้องโดยเฉพาะพี่น้องที่มีเรื่องราวต่อกัน พี่น้องที่มีเรื่องราวต่อกันและผู้นำในคริสตจักรฯก็ต้องพร้อมที่จะให้โอกาสแก่พี่น้องของเราเสมอ

 พร้อม ความหมายตาม พจนานุกรมไทย ราชบัณฑิตยสถาน

 ถ้าเป็นคำ กิริยา เช่น ร้องเพลงพร้อมกัน ปรบมือพร้อมกัน ถ้าเป็นการเดินทาง ไปพร้อมกัน ถึงพร้อมกัน

 ถ้าเป็นคำ ปริยาย เช่น งามพร้อม ดีพร้อม เตรียมพร้อม เสร็จ พร้อมกัน พร้อมเสมอ พร้อมตลอดเวลา

 ผู้เชื่อทุกคนต้องมีความพร้อมในการยกโทษและให้อภัยแก่พี่น้องในลักษณะของคำปริยายนี้เสมอ เขาขอโทษเราที่ไหนเราพร้อมที่จะให้อภัยที่นั่น

 ลก.23:39-43(39)ฝ่ายคนหนึ่งในผู้ร้ายที่ถูกตรึงไว้จึงพูดหยาบช้าต่อพระองค์ว่า "ท่านเป็นพระคริสต์มิใช่หรือ จงช่วยตัวเองกับเราให้รอดเถิด"40แต่อีกคนหนึ่งห้ามปรามเขาว่า "เจ้าก็ไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือ เพราะเจ้าเป็นคนถูกโทษเหมือนกัน41และเราก็สมกับโทษนั้นจริง เพราะเราได้รับสมกับการที่เราได้กระทำ แต่ท่านผู้นี้หาได้กระทำผิดประการใดไม่"42แล้วคนนั้นจึงทูลว่า "พระเยซูเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าในแผ่นดินของพระองค์"43ฝ่ายพระเยซูทรงตอบเขาว่า "เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า วันนี้เจ้าจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม"

 ใครจะเป็นคิดว่าบนไม้กางเขนนั้นจะมีนักโทษแดนประหารคนหนึ่ง มาขอให้องค์พระเยซูคริสต์เจ้าทรงโปรดยกโทษและให้อภัยต่อความผิดบาปของเขา

 แต่เมื่อเขาพูดออกมาอย่างนั้น องค์พระเยซูคริสต์เจ้าจึงทำไมครับ ? ประกาศการยกโทษและให้อภัยกับโจรบนกางเขนนั้นในทันที

 นี่คือความพร้อมที่มีความหมายว่า ปริยาย และเราทุกคนจะต้องมีความพร้อมปริยายที่ว่านี้อยู่ในชีวิตของเราเสมอ

เรื่องราวของโจรบนไม้กางเขนทำให้เราทราบว่า นาทีสุดท้ายชีวิตขององค์พระเยซูคริสต์ พระองค์ก็ยังทรงให้อภัยเสมอ

   สรุป

 ประการที่ 1 การยกโทษหรือการให้อภัย

    ประการที่ 1.1 การให้อภัย ต้องแสดงออก

    ประการที่ 1.2. การให้อภัย คือ การนมัสการพระเจ้า

 ประการที่ 2 ขั้นตอนในการอภัยและการลงวินัย

Green City