ท่าทีในการให้อภัยและการลงวินัย


คำเทศนาเรื่อง ท่าทีในการให้อภัยและการลงวินัย

มธ.18:15-20 หากว่าพี่น้องของท่านผู้หนึ่งทำการละเมิดต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดบาปนั้นแก่เขาสองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่าน ท่านจะได้พี่น้องคืนมาแต่ถ้าเขาไม่ฟังท่าน จงนำคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย ให้เป็นพยานสองสามปาก เพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสตจักร แต่ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีกก็ให้ถือเสียว่า เขาเป็นเหมือนคนต่างชาติและคนเก็บภาษี เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า สิ่งใดซึ่งท่านจะผูกมัดในโลก ก็จะถูกผูกมัดในสวรรค์ และสิ่งซึ่งท่านจะปล่อยในโลกก็จะถูกปล่อยในสวรรค์ เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายอีกา ถ้าในพวกท่านที่อยู่ในโลกสองคนจะร่วมใจกันขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตใว่นสวรรค์ก็ให้ ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนๆในนามของเรา เราจะอยู่จะทรงกระทำท่ามกลางเขาที่นั่น" และผมจะให้ชื่อเรื่องของคำเทศนาในเช้าวันนี้ว่า “ ท่าทีในการให้อภัยและการลงวินัย” ให้เราร่วมใจกันอธิษฐาน

พี่น้องที่รักครับ ในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนนี้ มีคำถามหนึ่งที่พี่น้องพชรบุรีชอบถามผมมากที่สุด คำถามนั้นก็คือว่า ถ้าพี่น้องของเราคนหนึ่ง ขอที่จะกลับมาร่วมประชุมนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักร ของเหมือนเดิม ผมจะรับเขากลับมาไหม ?

พี่น้องบางท่านบอกกับผมว่า ผมไม่ควรที่จะรับเขากลับมา พี่น้องบางคนแนะนำผมว่า ให้ผมนั้นได้ถามพี่น้องของเราก่อน ซึ่งนั่นคือคำตอบของพี่น้องนะครับ

ส่วนคำตอบของผมกับ อ.ดาร์ ซึ่งเป็นผู้เทศนา-สั่งสอน ต้องบอกกับพี่น้องอย่างสัตย์ซื่อและตรงไปตรงมาว่า คำตอบของผมกับ อ.ดาร์ ในฐานะผู้เทศนา-สั่งสอน ไม่สามารถที่จะตอบเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากอยู่ในพระวจนะของพระเจ้า ดังนั้นในเช้าวันนี้เราจะมาเรียนรู้ด้วยกันว่า พระคำของพระเจ้าสนับสนุนให้เราพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ประการที่ 1 มธ.18:15 หากว่าพี่น้องของท่านผู้หนึ่งทำการละเมิดต่อท่าน จงไปแจ้งความผิดบาปนั้นแก่เขาสองต่อสองเท่านั้น ถ้าเขาฟังท่าน ท่านจะได้พี่น้องคืนมา

ประการที่ 1 แจ้งความผิดสองต่อสองเป็นลำดับแรก

พระคำของพระเจ้าพูดเอาไว้อย่างชัดเจนนะครับว่า เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นมา ต้องแจ้งให้เขาทราบ ถ้าเราไม่แจ้งให้เขาทราบ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และวิธีการแก้ไขตามหลักการพระคัมภีร์ คือ ให้เราได้ไปแจ้งความผิดนั้นกับเขาแบบ 2 ต่อ 2 เป็นการรับรู้กันเฉพาะเธอกับฉันเท่านั้น ปัญหาก็คือว่า เวลานี้เมื่อมีคนกระทำความผิดต่อเรา เรามักจะไปพูดกับคนอื่น และคนที่ไม่ใช่คู่กรณีก็ไม่รู้เป็นอะไร พอฟังแล้วก็ชอบไปยุ่งหรือไม่ก็ชอบไปเดือดร้อนหรือไม่ก็ชอบไปเป็นธุระแทน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระวจนะของพระเจ้า เมื่อเราทำไม่ถูกต้อง แทนที่ปัญหามันจะจบอย่างง่ายๆ สุดท้ายมันจบง่ายไหมครับ ?

พระคำของพระเจ้าพูดเอาไว้อย่างชัดเจนนะครับว่า เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นมา ต้องแจ้งให้เขาทราบ ถ้าเราไม่แจ้งให้เขาทราบ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และวิธีการแก้ไขตามหลักการพระคัมภีร์ คือ คนนั้นก็ต้องไปจัดการปัญหาด้วยตนเอง

ปัญหาก็คือว่า เวลานี้เมื่อมีคนกระทำความผิดต่อเรา เรามักจะนำไปพูดในการกลุ่มเซลล์หรือในกลุ่มสามัคคีธรรมหรือเราไปนำเสนอเป็นหัวข้ออธิษฐานในคืนศุกร์อธิษฐาน ซึ่งการกระทำอย่างนี้ ถือว่าเป็นการการประจาน และยิ่งถ้าเขาทำผิดจริงๆเขากล้าไหมที่จะกลับมาคริสตจักร ?

พระคำของพระเจ้าพูดเอาไว้อย่างชัดเจนนะครับว่า เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นมาให้เราพูดกับเขาด้วยท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะเห็นแก่พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในเขา

พระคำของพระเจ้าก็พูดอย่างชัดเจนนะครับว่า เมื่อเราพูดกับพี่น้องของเราด้วยคำพูดที่เหมาะสม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะยอมรับฟังในสิ่งที่เราพูดได้ และท่าทีที่ถูกต้องเหมาะตรงนี้แหละครับพี่น้องที่รัก ที่จะทำให้เรานั้นได้พี่น้องของเรากลับคืนมา

แต่ถ้าเราได้ไปแจ้งความผิดกับเขาแบบ 2 ต่อ 2 แล้วพูดจาด้วยท่าทีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้แก้ไขแต่ถ้าเขาปฎิเสธในการที่จะแก้ไขพระคำของพระเจ้าสนับสนุนให้เราพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ประการที่ 2 มธ.18:16 แต่ถ้าเขาไม่ฟังท่าน จงนำคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย ให้เป็นพยานสองสามปาก เพื่อทุกคำจะเป็นหลักฐานได้

ประการที่ 2 ถ้าเขาไม่ฟัง จงพาคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย

พระคำของพระเจ้าพูดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าเราได้ไปแจ้งความผิดกับเขาเป็นการส่วนตัว อีกใช้คำพูดที่สวยงามใช้กิริยาที่เหมาะสมแต่เขายังพูดติฉินนินทา ไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ยอมแก้ไขในสิ่งใดๆเลย ขั้นตอนต่อไปก็คือให้เราพาพยานไปด้วย 1-2 คน

คำถามคือ พยานที่พระคัมภีร์พูดถึงคือใครและมีคุณลักษณะอย่างไร ? ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นในคริสตจักรพยานที่ต้องใช้ก็คือพี่น้องสมาชิกในคริสตจักร

คุณลักษณะของพี่น้องที่เราจะขอให้เขาช่วยเป็นพยานให้นั้นต้องเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณ ผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณดูกันอย่างไร ?

1.เขาผูกพันตัวกับพระเจ้า ผ่านการนมัสการ อธิษฐาน อ่านพระวจนะของพระเจ้าเป็นการส่วนตัวหรือเฝ้าเดี่ยวกับพระเจ้าในแต่ละวันไหม 2.มีฉากหน้าฉากหลังของชีวิตที่เหมือนกันไหมกล่าวคืออยู่บ้านกับอยู่โบสถ์นั้นอ่ะเหมือนกันไหม 3.ถ้าเป็นผู้ชายเขาทำหน้าที่เป็นปุโรหิตย์ในครอบครัวไหม 4.เขามีชีวิตที่เชื่อฟังยำเกรงพระเจ้าไหม

คนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณ เขาจะมีวุฒิภาวะในฝ่ายวิญญาณด้วย พยานที่มีคุณลักษณะอย่างนี้เขาจะไม่แพร่งพรายความผิดของคนอื่น อีกทั้งท่าทีของคนที่เราขอให้ไปช่วยเป็นพยานนั้น เขาจะมีท่าทีที่จะช่วยเหลือพี่น้องของเราที่ทำผิดให้กลับใจใหม่กับพระเจ้าและกับพี่น้องด้วย

ถึงกระนั้นแล้วถ้าเขายังไม่ยอมรับผิดต่อพี่น้อง อีกทั้งยังไม่หยุดในการทำความผิดบาปนั้นอีก พระคำของพระเจ้าสนับสนุนให้เราพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร


                ประการที่ 3 มธ.18:17 ถ้าเขาไม่ฟังคนเหล่านั้น จงไปแจ้งความต่อคริสตจักร แต่ถ้าเขายังไม่ฟังคริสตจักรอีกก็ให้ถือเสียว่า เขาเป็นเหมือนคนต่างชาติและคนเก็บภาษี

ประการที่ 3 ถ้าเขายังไม่ฟังให้ไปแจ้งต่อคริสตจักร

ไปบอกส่วนตัวแล้วไม่ยอมรับฟัง หาพยานไป 1-2 คนแล้วไม่ยอมรับฟัง ก็ให้ไปแจ้งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกับคริสตจักร คำถามคือทำไมต้องไปแจ้งความผิดที่พี่น้องกระทำต่อเราที่คริสตจักร เพราะพระเยซูทรงเป็นประธาน เป็นประมุข เป็นศีรษะของคริสตจักร อาจจะกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็ได้ว่าคริสตจักรเป็นตัวแทนของพระเจ้า

ดังนั้นผู้นำ ศิษยาภิบาลต่างเรียกคู่กรณีมาพบเพื่อพูดคุยกันและฝ่ายที่กระทำความผิดไม่มา พระคำของพระเจ้าบอกกับว่าให้เราคิดกับพี่น้องคนนั้นว่า เขาเป็นเหมือนคนต่างชาติหรือคนเก็บภาษีได้เลย ซึ่งคนเหล่านี้กระทำทำตัวเหมือนคนที่เชื่อพระเจ้าไหมครับ ?

เมื่อเขาทำตัวเหมือนคนต่างชาติทำตัวเหมือนคนเก็บภาษีและหรือทำตัวเหมือนคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าคริสตจักรก็ต้องตัดชื่อเขาออกจากการเป็นสมาชิกของคริสตจักร

ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไหมครับ การที่เราเป็นสมาชิกของคริสตจักรและอยู่เราถูกตัดชื่ออกไปเป้นสิ่งที่สำคัญไหมครับ ? มีคริสเตียนบางคนตอบอย่างนี้นะครับว่า “ถ้าจะให้ฉันต้องไปขอโทษคนนั้นคนนี้ฉันออกก็ได้”การที่เราเป็นสมาชิกของคริสตจักรและอยู่ๆเราถูกตัดชื่ออกไปเป็นสิ่งที่สำคัญไหมครับ ?

วันพุธที่พี่น้องพากันมาทุกๆวันพุธ เรามาทำอะไรกันบ้างครับพี่น้อง ? นมัสการ อธิษฐาน เรียนพระคำของพระเจ้า

ผมขอถามพี่น้องเกี่ยวกับเรื่องของการอธิษฐานเพียงอย่างเดียวนะครับ ? ถามว่าพวกเราอธิษฐานเผื่อพี่น้องในคริสตจักรของเราบางคนหรือเราอธิษฐานเผื่อพี่น้องในคริสตจักรของเราทุกคนครับ ? นี่คือการปกคลุมจากสวรรค์

พระคำของพระเจ้าใน มธ.18:18 “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า สิ่งใดซึ่งท่านจะผูกมัดในโลก ก็จะถูกผูกมัดในสวรรค์ และสิ่งซึ่งท่านจะปล่อยในโลกก็จะถูกปล่อยในสวรรค์” นี่คือสิทธิอำนาจที่พระเจ้ามอบให้กับคริสตจักรของพระองค์เท่านั้น

ดังนั้นกับคำถามที่ว่า การที่เราเป็นสมาชิกของคริสตจักรและอยู่ๆเราถูกตัดชื่ออกไปเนื่องจากเราไม่ยอมรับในการกระทำความผิดต่อพี่น้องถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไหม ?

คำตอบก็คือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะชื่อของคุณอาจจะไม่ได้อยู่ใน List ที่เขาจะต้องอธิษฐานเผื่อคุณ ดังนั้นการปกคลุมจากสวรรค์ในชีวิตของคุณก็หายไปด้วย ตราบใดที่คนทำผิดยังไม่กลับใจใหม่เขาก็จำเป็นที่จะต้องได้รับบทเรียนจากพระเจ้า

แต่ถ้าพี่น้องที่เขาได้กระทำความผิดต่อพี่น้องด้วยกัน และถ้าเขายอมที่จะสารภาพในความผิดที่ได้กระทำต่อพี่น้องด้วยกันล่ะ พระคำของพระเจ้าพูดเอาไว้อย่างไร

ประการที่ 4 ลก.17:3-4 “จงระวังตัวให้ดี ถ้าพี่น้องทำการละเมิดต่อท่าน จงเตือนเขา และถ้าเขากลับใจแล้ว จงยกโทษให้เขา
แม้เขาจะทำการละเมิดต่อท่านวันหนึ่งเจ็ดหน และจะกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดหนในวันเดียวนั้น แล้วว่า `ฉันกลับใจแล้ว' จงยกโทษให้เขาเถิด"

ประการที่ 4 คือ พร้อมที่จะยกโทษให้อภัยเสมอ

พี่น้องที่รักครับ เมื่อใครก็ตามที่กระทำความผิดแล้วสำนึกผิด อีกทั้งกลับใจใหม่โดยที่จะไม่กลับไปทำในสิ่งนั้นอีก ขอให้พี่น้องได้รู้และได้เข้าใจเถิดว่า พระเจ้านั้นพร้อมที่จะยกโทษและให้อภัยเสมอ ต่อให้พี่น้องทำผิดต่อพระองค์จะอีกกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง (แต่เป็นการทำผิดในเรื่องใหม่นะครับ ไม่ใช่เรื่องเก่า) พระองค์ก็พร้อมที่จะยกโทษและให้อภัยเสมอๆ

คำถามก็คือว่า ทำไมพระองค์ถึงพร้อมที่จะยกโทษและให้อภัยเสมอ ? ให้เราดูใน มธ.18:14 “อย่างนั้นแหละพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้เล็กน้อยเหล่านี้สักคนหนึ่งพินาศไปเลย”

พระคำของพระเจ้าบอกกับเราว่า เพราะองค์พระเยซูคริสต์เจ้าไม่ปรารถนาที่จะเห็นใครสักคนหนึ่งต้องถูกพิพากษาในบึงไฟนรกหรือไม่ปรารถนาที่จะเห็นใครสักคนหนึ่งต้องถูกพินาศไป

พี่น้องทราบใช่ไหมครับ ว่าองค์พระเยซูคริสต์เจ้าเสด็จเข้ามาในโลกเพื่อทำพันธกิจอะไร ? พันธกิจรัก พันธกิจแห่งการคืนดี พันธกิจแห่งการให้อภัย

และพี่น้องทราบใช่ไหมครับว่า องค์พระเยซูคริสต์เจ้านั้นไม่ได้กระทำความบาปอะไรเลย แต่ถึงกระนั้นพระองค์ยังถูกตัดสินว่าผิด ทรงถูกจับกุม ถูกทนมาน ถูกดูหมิ่น ถูกทำร้ายร่างกาย ทรงถูกประจานและหยามเหยียด จนกระทั่งถูกตรึงไว้ที่กางเขน

ก่อนตายองค์พระเยซูคริสต์ได้ทรงอธิษฐานว่าอย่างไรครับ ?

ลูกา 23:34 ฝ่ายพระเยซูจึงทรงอธิษฐานว่า "ข้าแต่พระบิดา ขอโปรดอภัยโทษเขา เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร" เขาก็เอาฉลองพระองค์จับฉลากแบ่งปันกัน

คำอธิษฐานขององค์พระเยซูคริสต์ก่อนสิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่นาที ทำให้เราทราบว่า การยกโทษและการให้อภัย ยังเป็นหัวใจของพระองค์จนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต

ดังนั้นถ้าพี่น้องที่ได้กระทำความผิดต่อพี่น้องด้วยกัน และถ้าเขายอมที่จะสารภาพในความผิดที่ได้กระทำต่อพี่น้องด้วยกันและกลับใจใหม่อย่างแท้จริง เหมือนกับนาง Mary Magdalene หญิงโสเภณีคนนั้น เราเองก็ต้องให้ “โอกาส”แก่ผู้อื่น เหมือนอย่างที่พระเจ้าทรงให้ “โอกาส” นั้นแก่เรา ซึ่งนั่นหมายความว่า เราเองก็ควรที่จะยกโทษหรือให้อภัยพี่น้องของเราด้วย

แต่ถ้าความผิดที่เขาได้กระทำต่อพี่น้องมันไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องสมาชิกในคริสตจักรฯ Ex.สร้างความแตกแยก-แตกร้าว อีกทั้งก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในคริสตจักรฯ

ประการที่ 4.1 ต้องมีการลงวินัยโดยมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม

ถึงแม้ว่าเขาจะสารภาพในความผิดและกลับใจใหม่ต่อพี่น้องแล้วก็ตาม และพี่น้องก็ได้ยกโทษให้อภัยแล้วก็ตาม แต่ระดับความผิดที่เขากระทำมันไม่ใช่กระทบเพียงคนเดียว มันมีผลกระทบในวงกว้าง นอกจากเราจะยกโทษและให้อภัยแล้ว เราจะต้องมีการลงวินัยเขาและเขาก็จะต้องอยู่ภายใต้การลงวินัยนั้นด้วย

พี่น้องฟังสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ให้ดีๆนะครับ สิ่งที่ผมจะพูดนั่นก็คือว่า การลงวินัยจากคริสตจักรเป็นกระบวนการหนึ่งของการให้อภัย จุดมุ่งหมายของการลงวินัยเพื่อช่วยชีวิตมิใช่ทำลายชีวิตโดยเฉพาะเป็นการช่วยชีวิตในฝ่ายจิตวิญญาณ

แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจคืออะไรทราบไหมครับ ? 90 % ของพี่น้องที่ถูกลงวินัยมักจะหนีการถูกลงวินัย เมื่อคุณถูกลงวินัยและคุณหนีหรือไม่ยอมรับการถูกลงวินัยเป็นเหตุทำให้คริสตจักรไม่สามารถที่จะรับคนๆนั้นกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของคริสตจักรอย่างสมบูรณ์ได้

สิ่งที่ผมอยากบอกกับพี่น้องนั่นก็คือว่า การยกโทษให้อภัยต่อพี่น้องที่กระทำผิดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การถูกลงวินัยเพราะสิ่งที่ท่านทำนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องสมาชิกในคริสตจักรฯนั่นก็เรื่องหนึ่ง จะเอาเรื่องการยกโทษและให้อภัยมารวมกับการไม่ถูกลงวินัยนั้นไม่ได้

พี่น้องรู้จักนิยามของคำว่า “พ่อแม่รังแกฉันไหม” ครับ ? นิยามของคำว่า “พ่อแม่รังแกฉันไหม” คือ พ่อแม่ที่ตามใจลูกของตนมากเกินไป ขนาดลูกทำผิด ทำชั่วก็ยังตามใจ

หลักการของพระเจ้า คือ “ใส่ใจดูแล แต่ไม่ตามใจ แต่ต้องตามพระคำที่พระเจ้าสอน” คริสตจักรใดก็ตามที่พี่น้องทำความผิดและความผิดนั้นส่งผลกระทบต่อพี่น้องสมาชิกในคริสตจักรฯ และผู้นำคริสตจักรนั้นไม่กล้าลงวินัยคนที่ทำผิดนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

Ex. อาจจะเป็นเพราะว่า เป็นลูกของผู้ปกครองของคริสตจักรหรืออาจจะเป็นคนที่ถวายให้กับคริสตจักรเป็นหลัก ถ้าเขาทำผิดและส่งผลกระทบกับพี่น้องสมาชิกในคริสตจักร แล้วผู้นำ ศิษยาภิบาลไม่กล้าที่จะลงวินัยเพราะด้วยเหตุผลที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ ขอให้พี่น้องได้รู้และได้เข้าใจว่า การปกคลุมจากสวรรค์หรือการเจิมจากพระเจ้าก็ไม่ได้อยู่ด้วยกับคริสตจักรนั้นแล้ว เมื่อการเจิมการปกคลุมจากสวรรค์ไม่ได้อยู่กับคริสตจักรนั้นแล้ว คริสตจักรนั้นจะเกิดผลไหมครับ

สรุป คำเทศนาเรื่อง ท่าทีในการให้อภัยและการลงวินัย

ประการที่ 1 แจ้งความผิดสองต่อสองก่อนเป็นลำดับแรก

ประการที่ 2 ถ้าเขาไม่ฟัง จงพาคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย

ประการที่ 3 ถ้าเขายังไม่ฟังให้ไปแจ้งต่อคริสตจักร

ประการที่ 4 พร้อมที่จะยกโทษให้อภัยเสมอ

ประการที่ 4.1 ต้องมีการลงวินัยโดยมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม

 

Green City