ความล้มเหลวที่ไม่ธรรมดา

๑๑๑๑๑๑๑๑๑      ๑๑๑๑๑๑๑๑๑

ความล้มเหลวที่ไม่ธรรมดา

ทุกวันคริสต์มาสที่ผ่านมาในชีวิตของผม มีเพลงที่ประทับใจผมมากที่สุดเพลงหนึ่ง
เพลงนั้นคือเพลง "Jingle Bell" อันที่จริงผมฟังเพลงนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว
ไม่ได้คิดอะไรมาก รู้สึกสนุกดี…

แต่แล้ววันนี้ เพลงนี้กลับมีความหมายกับผมมากที่สุด…
ทำไมหรือครับ?…ก็เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตของชายคนหนึ่งครับ ..
คือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

จอห์น เพียพอยน์ บัณฑิตหนุ่มคณะศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลที่มีชื่อเสียง
เริ่มงานสอนนักเรียนเป็นงานแรก แต่เขาประสบความล้มเหลวอย่างหมดรูปเลยทีเดียว
ว่ากันว่าเป็นเพราะเขาใจดีกับนักเรียนมากเกินไป

เขาเปลี่ยนงานใหม่ มาทำงานเป็นนักกฎหมาย แต่ล้มเหลวอีก
ว่ากันว่า คงเป็นเพราะเขาใจดีกับลูกความเกินไป เขายึดถือความยุติธรรมเป็นหลัก
และไม่ยอมรับงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง เขาจึงอยู่ไม่ได้นาน

เขายังสู้ต่อไป ไปเป็นพ่อค้าขายของแห้ง แต่ก็ล้มเหลวอีก
เพราะไม่กล้าเอากำไรมาก แถมยังใจดียอมให้คนซื้อเอาของไปก่อน
แล้วค่อยจ่ายทีหลังมากเกินไป

ลองทำงานใหม่ เขียนบทกวีส่งโรงพิมพ์ แต่ค่าตอบแทนก็ไม่พอยาไส้

ล้มเหลวจากนักเขียน
สู้ใหม่โดยเข้าศึกษาด้านศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
และเป็นนักเทศน์ประจำโบสถ์แห่งหนึ่ง ที่เมืองบอสตัน แต่เขาต้องลาออก
เพราะเขาต่อสู้เพื่อการเลิกทาส และต่อต้านการเสพของมึนเมา
จนทำให้เขาขัดแย้งกับสมาชิกผู้มีอิทธิพลของโบสถ์

ต่อมา เขาพยายามเข้าทำงานด้านการเมือง
เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนพรรคเลิกทาส
เข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ แต่เขาแพ้การเลือกตั้ง
เขายังสมัครเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในนามพรรคแผ่นดินเสรี
ก็แพ้อีกเช่นกัน

ช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง เขาสมัครเป็นสาธุคุณประจำกองร้อยที่22
ของอาสาสมัครจากรัฐแมสซาชูเซตส์ เขาทำงานอยู่ได้เพียง 2 อาทิตย์
ก็ต้องลาออก เพราะสุขภาพไม่อำนวย ขณะนั้นเขาอายุได้ 76 ปีแล้ว
ที่สุดมีคนช่วยให้เขาได้งานในกรมคลังของกรุงวอชิงตัน
5 ปีสุดท้ายของชีวิต เขาทำหน้าที่เสมียนแผนกสารบรรณ

เขาทำไปอย่างแกนๆ เพราะงานนี้ไม่ค่อยเข้ากับนิสัยเขาเท่าไรนัก


จอห์น เพียพอยน์ ตายด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในปี ค.ศ. 1866 เมื่ออายุได้ 81 ปี
ขณะดำรงตำแหน่งเสมียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
…และดูเหมือนว่าเขามีประสบการณ์ของการเป็นผู้แพ้มาตลอดชีวิต

เขาตายอย่างคนล้มเหลว ทำอะไรไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง
แผ่นหินที่จารึกบนหลุมศพของเขาเขียนไว้ว่า เขาเป็นกวี นักเทศน์ นักปรัชญา และนักมนุษย์นิยม

อ่านมาตั้งนาน ยังไม่เห็นเกี่ยวกับเพลง Jingle Bell ตรงไหนเลย
ก็คนที่แต่งเพลงนี้ คือ ผู้แต่งเพลงนี้ คือ จอห์น เพียพอยน์ ไงล่ะครับ

เขาเขียนเพลง Jingle Bellเพื่อเป็นของขวัญเล็กน้อยสำหรับครอบครัวและมิตรสหาย

ตลอดจนสมาชิกในโบสถ์เพลงที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขอย่างเรียบง่าย
เป็นเพลงที่มีคนหลายร้อยล้านคน ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนถึงคนชรา ต่างรู้จักเพลงนี้ดี

นี่แหละครับที่เป็นเหตุให้ผมประทับใจเพลงของเขามากที่สุด
ก็ผมซาบซึ้งใจกับชีวิตของ จอห์น เพียพอยน์ ที่ต่อสู้เพื่อให้อะไรๆกับคนอื่น
แม้จะดูเหมือนว่าเขาประสบความล้มเหลวตลอดชีวิต
แต่ ที่จริงการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการศึกษา ทางกฎหมาย
โดยเฉพาะ การเลิกทาส ซึ่งเขาเข้ามามีส่วนร่วมมาโดยตลอด
เขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และมีหัวใจให้กับความรักต่อเพื่อนมนุษย์
นั่นมิใช่หรือที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่ง

สำหรับผม เมื่อทราบเบื้องหลังชีวิตของเขาแล้ว
เพลงนี้ยิ่งเป็นกำลังใจให้กับพวกเราทุกคน ให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง
และต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามต่อมวลมนุษยชาติ
จะได้อยู่กันด้วยความยุติธรรม สันติ และความร่าเริงยินดี…

แน่นอน... เราเริ่มกันง่ายๆที่ตัวเราเอง กับพ่อแม่ กับพี่น้อง
กับเพื่อนๆ ควบคู่ไปกับบุคคลที่ขาดโอกาสอีกมากมายในสังคม
ก็ขนาดเขาพบแต่ความล้มเหลวมากมายเช่นนี้แล้ว
จอห์น เพียพอยน์ยังเขียนเพลงที่ให้ความสุขกับผู้คนได้มากมายขนาดนี้

แล้วเราล่ะ ผมเชื่อว่าเรายังมีอะไรๆมากกว่าที่เราคิด
ที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาส ให้เวลา
ให้ความรัก-ความเอื้ออาทร ให้ปัญญา หรือให้ทุนทรัพย์
กับคนรอบข้างได้อีกมากโขอยู่นา…

๑๑๑๑๑๑๑๑๑      ๑๑๑๑๑๑๑๑๑




Green City